การคำนวณค่าไฟฟ้า ในบ้าน
[[pic1]]
หลายๆคน คงอยากทราบว่าค่าไฟฟ้าที่เราจะต้องจ่ายในทุกๆเดือน มีการคำนวณจากอะไร แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่นำมาคิดค่าไฟฟ้า เอาล่ะเราจะลองทำการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคร่าวๆ กันนะครับ โดยปรกติการไฟฟ้าจะแยกการคิดเรทค่าไฟฟ้า อีกหลายประเภทเช่นกิจการขนาดต่างๆ แต่เราจะยกตัวอย่างการใช้ไฟประเภทบ้านเรือนทั่วไปเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่เจอบ่อยครั้งกว่า
จากบิลค่าไฟฟ้าที่เราได้รับมา จะแบ่งออกเป็นค่าต่างๆ ดังนี้
A - ค่าพลังงานไฟฟ้า
B - ค่าบริการรายเดือน
c - ค่า ft
D - รวมเงินค่าไฟฟ้า
E - ภาษีมูลค่าเพิ่ม
F - รวมเงินค่าไฟฟ้าเดือนปัจจุบัน
[[pic3]]
[[head-A-ค่าพลังงานไฟฟ้า
ค่าพลังงานไฟฟ้า 3,010.74 บาท ตัวเลขนี้มาจากบิลค่าไฟที่แจ้งจำนวนหน่วยพลังไฟฟ้าที่เราใช้รวมทั้งหมดของเดือน จากบิลนี้จะได้ 732 หน่วย จึงเข้าเงื่อนไข 1.1.2 การใช้พลังงานไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน
สามารถคำนวณได้ดังนี้
หน่วยที่ 1-150 = 150 x 3.2484 = 487.26 บาท
หน่วยที่ 151-400 = 250 x 4.2218 = 1,055.45 บาท
หน่วยที่ 401 ขี้นไป = 332 x 4.4217 = 1,468.0044 บาท
ดังนั้นค่าพลังงานจึงได้ 487.26 + 1,055.45 + 1,468.0044 = 3,010.74 บาท
[[head-B-ค่าบริการรายเดือน
ค่าบริการรายเดือน ได้มาจากความสัมพันธ์จากการใช้พลังงานไฟฟ้า จากบิลใช้ มากกว่า 150 หน่วย/เดือน ,ค่าบริการรายเดือนจึงเท่ากับ 38.22 บาท
[[head-C-ค่า ft
ค่า ft ย่อมาจาก Float time มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่นราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้นตามช่วงเวลาต่างๆที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณเนื่องจากตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณ สูตร Ft ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้นที่ กฟผ.ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถนำไป คำนวณในสูตร Ft ,จากบิลนี้เท่ากับ -84.91 บาท
[[pic4]]
[[pic5]]
[[pic6]]
[[head-D-รวมเงินค่าไฟฟ้า
รวมเงินค่าไฟฟ้าได้มาจาก ค่า A+B+C
3,010.74 + 38.22 + (-84.91) = 2,964.05 บาท
[[head-E-ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ก็คือค่าภาษีที่จะต้องจ่ายให้รัฐ 7% จาก D-ค่ารวมเงินค่าไฟฟ้า
2,964.05 x 7/100 = 207.48 บาท
[[head-F-รวมเงินค่าไฟฟ้าเดือนปัจจุบัน
ก็คือค่าไฟฟ้ารวมทั้งหมด จาก A+B+C+E หรือ D+E
3,010.74 + 38.22 + (-84.91) + 207.48 = 3,171.53 บาท
เห็นไหมครับว่าค่าไฟฟ้าที่แจ้งเรามาในบิลค่าไฟ จะมีวิธีคิดมาจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ แต่สิ่งที่ไม่คงที่คือค่า ft เพราะจะมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาทำให้ค่า ft ไม่แน่นอน เราสามารถคำนวณค่าไฟฟ้าได้คร่าวๆเองได้ ซึ่งนี่เป็นแค่การยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นการใช้ในครัวเรือนทั่วไป ในความเป็นจริงจะมีวิธีคิดอีกหลายแบบขึ้นอยู่กับที่อยู่อาศัย ,ลักษณะงาน ,ลักษณะการขอใช้ไฟ
หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับทุกๆคนนะครับ